top of page

ธนาคาร ไทย-เทศ จับมือร่วมกันใช้ Blockchain ในบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์

22 แบงก์ไทย และต่างประเทศ จับมือร่วมใช้ บล็อกเชน (Blockchain) บนระบบเดียวกัน ตั้งเป้าธุรกิจไทยเปลี่ยนมาใช้บริการหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชน 50% ภายใน 3 ปี พร้อมตั้ง “บีซีไอ” (BCI)พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศและผลักดันเทคโนโลยีให้เข้าถึงทุกกลุ่มธุรกิจ…

  • ครั้งแรกของโลกในอุตสาหกรรมธนาคารที่ธนาคารไทย และธนาคารต่างประเทศร่วมใช้บล็อกเชนบนระบบเดียวกัน พร้อมตั้งเป้าธุรกิจไทยเปลี่ยนมาใช้บริการหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชน

  • ตั้งเป้าเพิ่มการใช้งานหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนเป็น 50% ของหนังสือค้ำประกันทั้งประเทศ ภายใน 3 ปี


แบงค์ไทย และต่างชาติ ร่วมใช้ Blockchain หนุนธุรกิจใช้ e-LG


ประเด็นดังกล่าวนับเป็นข่าวดีของธุรกิจทีต้องการจะทำงานให้กับหน่วยงานรัฐ ซึ่งโดยปกติแล้วหากต้องการยื่นประมูล หรือประกวดราคาในโครงการต่าง ๆ ของรัฐ จะต้องทำการเสนอราคาผ่านวิธีประกวดราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-ฺBidding) ซึ่งบ่อยครั้งจะมีประเด็นถกเถียงกันว่าไม่โปร่งใส หรือมีการฮั่วประมูลกันเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

แต่ในวันนี้ปัญหาดังกล่าวนาจะมีทางออกแล้ว เมื่อ 22 แบงก์ไทย และต่างประเทศ ได้ร่วมสร้างโครงข่ายหนังสือค้ำประกันแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบ 100% โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ผ่านบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สนองนโยบายภาครัฐ

ที่ต้องการให้การ จัดซื้อจัดจ้าง ของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างโปร่งใส และให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมไม่มีการสมยอมระหว่างผู้เสนอราคา กับหน่วยงานรัฐ นั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ ที่ต้องการจะเข้าประกวดราคาในโครงการของรัฐนั้นจะต้องมีการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

หรือเรียกว่า “หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์” (e-Letter of Guarantee หรือ e-LG) ซึ่งเป็นหนังสือรับรองสินทรัพย์หรือวงเงินผ่านระบบออนไลน์ ที่ผู้รับเหมาก่อสร้างที่สนใจงาน จัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ สามารถไปขอทำได้จากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปยื่นต่อผู้รับหนังสือค้ำประกันที่เป็นภาครัฐ

และใช้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หรือภาระผูกพันต่าง ๆ ที่ผู้ยื่นขอมีต่อผู้รับหนังสือค้ำประกันได้ ทำให้มีโอกาสมากขึ้นในได้งานจากหน่วยงานภาครัฐ เพราะมีสถาบันการเงินเป็นผู้เข้ามารับประกัน ซึ่งมีการทำผิดสัญญา หน่วยงานรัฐที่รับหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์สามารถเรียกร้องให้สถาบันการเงินชำระหนี้แทนได้ในทันทีนั่นเอง


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ Thailand Blockchain Community Initiative เพื่อศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชน และนำมาพัฒนาเป็นบริการที่จับต้องได้จริงในภาคการเงิน และภาคธุรกิจ

ซึ่งเริ่มต้นจากธนาคารพาณิชย์ 14 ราย ร่วมกับรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่ในปี 2561 ที่ผ่านมา และปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมเพิ่มเติมรวมเป็น 22 ราย และให้สามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด จึงได้มีการรจัดตั้ง บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด. ขึ้น

ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเป็นบริการแรก ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือ และขยายชุมชน บล็อกเชน ของไทยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง สามารถรองรับบริการที่หลากหลายในอนาคต และช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

จากการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน (Shared Infrastructure) และเทคโนโลยีบล็อกเชน ร่วมกัน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ไม่เฉพาะต่อภาคการเงินของไทย แต่จะมีประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และการให้บริการของภาครัฐ ต่อไป  


ด้าน ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและมีการนำมาใช้กว้างขวางมากขึ้น ในขณะที่ในประเทศไทยก็เริ่มใช้บล็อกเชนในทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย

และลดการจัดการเอกสารที่เป็นกระดาษลง ซึ่งการเชื่อมต่อทุกธนาคารที่เข้าร่วมด้วยแพลทฟอร์มเดียวกัน จะช่วยให้สามารถต่อยอดระบบให้เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และผลักดันเทคโนโลยีให้เข้าถึงทุกกลุ่มธุรกิจ เสริมประสิทธิภาพ และยกระดับการแข่งขันให้กับธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นบริการแรกของบริษัท ที่มุ่งหวังให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถเข้าถึง ใช้งานได้จริง ด้วยต้นทุนที่รับได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการจัดการเอกสารและการดูแลข้อมูล ตลอดจนลดขั้นตอนในการทำงาน ภายใต้ความปลอดภัยระดับโลก โดยเป็นการรับรองหนังสือค้ำประกัน ผ่านระบบ Cloud Technology ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งช่วยให้การใช้งานคล่องตัว ปลอดภัย เชื่อถือได้ ป้องกันการปลอมแปลงหนังสือค้ำประกัน รองรับการทำธุรกรรม และสามารถตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ ทำให้ผู้ออกหนังสือค้ำประกันสามารถวางหนังสือค้ำประกันได้เร็วขึ้น ผู้รับวางหนังสือค้ำประกันสามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างรวดเร็วบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% โดยบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนนี้จะเริ่มใช้งานในเดือนมิถุนายนนี้

และอยู่ภายใต้การทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. และสามารถรองรับองค์กรที่เป็นผู้รับหนังสือค้ำประกันเพิ่มได้ในไตรมาส 3 และในอนาคตจะมีการพัฒนาบริการอื่น ๆ บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่มขึ้นด้วย


โดยเราตั้งเป้าเพิ่มการใช้งานหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนเป็น 50% ของหนังสือค้ำประกันทั้งประเทศ ภายใน 3 ปี จากมูลค่าหนังสือค้ำประกันผ่านระบบสถาบันการเงินไทยทั้งภาครัฐ และเอกชนกว่า 1.35 ล้านล้านบาท จำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับต่อปี ในปัจจุบัน


Comments


bottom of page