บีซีไอฯ พร้อมเปิดให้บริการ หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชน (eLG) หลัง ธปท.ไฟเขียวให้ออกจาก Sandbox ตั้งธงรุกหนักกวาดยอดธุรกรรมครึ่งตลาดเข้าระบบ eLG ภายในปีนี้ รวมมูลค่าธุรกรรมกว่า 2 แสนล้านบาท ชี้จุดเด่นความสะดวกรวดเร็ว ลดเวลา-ขั้นตอนทำงาน แย้มแผนต่อไปลุยปั้นบริการออกหนังสือรับรองผ่านบล็อกเชน
นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บีซีไอฯ เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารทหารไทยธนชาต เพื่อศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชนและร่วมกันพัฒนา Infrastructure Blockchain ทางการเงิน
บีซีไอฯ ได้พัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ eLG (Electronic Letter of Guarantee on Blockchain) เป็นบริการแรกโดยเข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้งานจริงนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา ยกระดับการให้บริการ eLG ช่วยให้การทำธุรกรรมที่จำเป็นต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน และยังมั่นใจได้เรื่องความปลอดภัย สามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% ตลอด 24 ชั่วโมง กล่าวคือ “จุดเด่นของบริการ eLG อยู่ที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนให้การทำธุรกรรมสะดวก รวดเร็ว และลดขั้นตอนการทำงานลง แม้ในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่การทำธุรกรรมต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างยากลำบาก บริการ eLG ก็ยังคงช่วยให้การดำเนินธุรกิจไม่สะดุด โดยสามารถออกหรือคืนหนังสือค้ำประกันผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า จึงเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ บีซีไอฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ทางการการเงินและธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้เรามีพันธมิตรสำคัญช่วยสนับสนุน อาทิ กรมบัญชีกลาง ได้ใช้หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอราคาของภาครัฐ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ได้ร่วมผลักดันและขยายการใช้บริการงานหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังรวมถึงภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครือปูนซีเมนต์ไทย กลุ่มบริษัทปตท. และอื่น ๆ อีกมาก
โดยปัจจุบัน eLG ได้ผ่านการทดสอบนวัตกรรมใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วอย่างเป็นทางการ ซึ่งเปรียบเสมือนบททดสอบสำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ eLG จะสามารถใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพและปลอดภัย บีซีไอฯ จึงมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจเอกชน โดยคาดว่า บีซีไอฯ จะสามารถขยายขีดความสามารถในการให้บริการ จนครอบคลุมหนังสือค้ำประกันกว่า 50% ของตลาดได้ภายในปี 2565 หรือคิดเป็นประมาณธุรกรรมกว่า 80,000 รายการ มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะครอบคลุมกว่า 80% ของหนังสือค้ำประกันในประเทศได้ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ บีซีไอฯ ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่บริการทางการเงินใหม่ๆ ต่อไป ล่าสุด บีซีไอฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาบริการหนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบล็อกเชน (Electronic Confirmation on Blockchain หรือ eBC) ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการให้บริการ ประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชี รวมทั้งสำนักงานผู้ตรวจบัญชีชั้นนำ สถาบันทางการเงิน และภาคส่วนองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ข้อคิดเห็นและร่วมออกแบบการทำงานของโครงการ โดยบริการนี้จะเริ่มต้นนำร่องด้วยหนังสือรับรองทางการเงินของธนาคาร (Bank Confirmation) ในระยะแรก ก่อนจะขยายไปยังหนังสือรับรองประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งบริการนี้จะช่วยลดระยะเวลาในขั้นตอนการขอหนังสือรับรองทางการเงินต่าง ๆ อีกทั้งยังได้ข้อมูลที่ครบถ้วน น่าเชื่อถือ ช่วยให้การตรวจสอบบัญชีมีความถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนนำร่องเปิดให้บริการ eBC ดังกล่าว ในไตรมาส 2 ปี 2566 ที่จะถึงนี้
“ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานและองค์ต่าง ๆ ที่ร่วมสนับสนุนและผลักดัน บริษัท บีซีไอฯ มาอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณสำหรับการสนับสนุนด้วยดีที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อช่วยกันผลักดันการใช้เทคโนโลยี มาเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายกึกก้อง กล่าว
นายสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่ บีซีไอฯ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีสถาบันการเงิน
ที่ให้บริการแพลตฟอร์มของบีซีไอฯ กว่า 19 แห่ง ได้แก่
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารออมสิน
ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรรัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจเป้าหมายมากกว่า 170 องค์กร และยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจทยอยเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง
“ทุกวันนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และถูกนำมาปรับใช้กับธุรกิจอย่างหลากหลาย ซึ่งตอบโจทย์ทั้งความสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับเอกสารที่เป็นกระดาษลงไปได้มาก ขณะเดียวกันก็มีความปลอดภัยสูง ซึ่งบีซีไอฯ ยังคงมุ่งมั่นเพื่อนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบล็อกเชน ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจ รวมทั้งสร้างความพร้อมสำหรับการเติบโตและแข่งขันในโลกธุรกิจดิจิทัลได้อย่างเข้มแข็ง” นายสิริวัฒน์ กล่าว
สำหรับผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดหรือสมัครใช้บริการกับ บีซีไอฯ ได้ที่ contact@bci.co.th หรือโทร. 0 2029 0200
Comments